ทิศทางการเติบโตของธุรกิจโรงกลึงขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของภาคการลงทุนและเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากโรงกลึงนับเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สนับสนุนการผลิตนอกเหนือจากอุตสาหกรรมหล่อโลหะ อุตสาหกรรมขึ้นรูปโลหะ อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนทางกลและทางไฟฟ้า เป็นต้น
ที่เป็นส่วนสำคัญในการประกอบกิจการเกือบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หรือแม้แต่ภาคบริการต่างๆ และยังเชื่อมโยงกับสาขาการผลิตอื่นอีกมากมายผ่านอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เนื่องจากสินค้าที่ผลิตได้จากเครื่องจักรกลมักเป็นส่วนประกอบหรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่นำไปใช้ในการผลิตสินค้าสำเร็จรูปในอุตสาหกรรมกลางและปลายน้ำ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักของประเทศในกลุ่ม First S-Curve1 ที่ภาครัฐหวังที่จะยกระดับเพื่อต่อยอดการเติบโตทั้ง 5 อุตสาหกรรม อันประกอบด้วย 1) ยานยนต์แห่งอนาคต 2) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ3) ท่องเที่ยวระดับคุณภาพ 4) เกษตรเชิงประสิทธิภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 5) อาหารแห่งอนาคต นอกจากนี้เพื่อยกระดับให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและก้าวผงาดได้อีกครั้ง ภาครัฐยังกำหนด New S-Curve อีก 5 อุตสาหกรรมซึ่งประกอบไปด้วย 1) หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม 2) อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน 3) อุตสาหกรรมชีวภาพ พลังงาน และเคมีชีวภาพ 4) อุตสาหกรรมดิจิทัล 5) อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยต่างต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคอนาคตข้างหน้า ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงกลึงจึงจะต้องเตรียมตัวรับมือกับการปรับเปลี่ยนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตขนานใหญ่ในอนาคต เพื่อร่วมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยนับจากนี้ด้วย